“ดูก่อน ตัดสินใจ” 8 จุดบ้านพังต้องรู้ ก่อนซื้อบ้านมือ 2 ต้องดูให้ดี Mastery Resolution - บริษัทเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ครบวงจร

NEWS & ARTICLES

09 Jun 2022 4090 VIEWS

“ดูก่อน ตัดสินใจ” 8 จุดบ้านพังต้องรู้ ก่อนซื้อบ้านมือ 2 ต้องดูให้ดี


POSTED BY Mastery Resolution

 

 

            ปัจจุบันนี้คนนิยมซื้อบ้านมือ 2 กันเยอะมากขึ้น เนื่องด้วย ปัจจัยหลาย ๆ อย่างอย่างเช่น ทำเลบ้านมือ 2 ที่ดีกว่าโครงการใหม่ที่สร้างห่างเมืองออกไปเรื่อย ๆ หรือแม้แต่ราคาของบ้านมือ 2 ที่ส่วนใหญ่แล้วคุ้มค่ากว่า เพราะสามารถซื้อบ้านได้หลังใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับราคาบ้านมือ 1 แต่ปัญหายอดนิยมสำหรับการซื้อบ้านมือ 2 ที่คนมักพบกันก็คงหนีไม่พ้น ตอนซื้อมาแล้ว ต้องมาเจอกับปัญหางานซ่อมบ้านจุกจิก จนน่าปวดหัวและขยาดไปตาม ๆ กัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจุดที่ต้องตรวจสอบให้ดี ในการซื้อบ้านมือ 2 นั้นมีไม่กี่จุด และสามารถตรวจเช็คได้เองไม่ยากอย่างที่คิด โดยจะมีส่วนไหนบ้างมาดูกันเลย

 

  1. กระเบื้องร่อน บ้านมือ 2 ที่มีคนอยู่อาศัยส่วนมาก อาจจะไม่ค่อยเจอ เพราะการที่มีคนอยู่ จะทำให้อากาศไม่อบในบ้าน โอกาสที่พื้นกระเบื้องจะร่อน จะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบ้านที่ไม่มีคนอยู่ บ้านจะถูกปิดตลอด ทำให้อากาศร้อนอบ พอเจอช่วงหน้าฝน ความชื้นจากด้านล่างจะทำให้ปูนกาวชื้นหดตัว และหากมีการปูกระเบื้องที่ไม่ดีพอกระเบื้องจะเริ่มหลุดร่อนออกมาได้

    วิธีสังเกตุ ให้ลองเดินแบบถอดรองเท้า จะใช้ส้นเท้า หรือ อุ้งเท้าลงน้ำหนักดูก็ได้ หากกระเบื้องร่อน แรงสะท้อนที่เท้าเราได้รับจะแตกต่างจากพื้นกระเบื้องที่ไม่มีปัญหา หรือหากบ้านไหนที่มีคนอยู่ แต่มีการจัดวางเฟอร์นิเจอร์หรือของ เอาไว้ตำแหน่งแปลก ๆ อาจจะตั้งข้อสงสัยได้ว่า เอาของวางทับกระเบื้องที่มีการร่อนอยู่ก็เป็นได้

    วิธีการแก้ไข จำเป็นจะต้องรื้อกระเบื้องเท่านั้นแต่ปัญหาคือเรามักหาสีกระเบื้อง ให้เหมือนเดิมได้ยาก เพราะกระเบื้องแต่ละ
    lot ต่อให้เป็นรุ่นเดียวกันแต่จะมีสีที่เกิดจากการเผา ไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้าจะให้ดีควรตัดแนวของการรื้อกระเบื้องเพื่อซ่อมแซมเป็นโซน แล้วใช้ คิ้วจบแนวพื้นมาช่วย มีทั้งแบบอลูมิเนียม และเป็นตัวครอบพลาสติก และยังสามารถแต่งโซน แบ่งพื้นที่บ้านได้ด้วยเช่นกัน

 

  1. ผนังรั่วซึม พบเจอได้เยอะมาก ตามมุมของหน้าต่าง โดยปกติแล้วผนังบ้านจะมีจุดอ่อนแอต่อการรั่วซึมที่มุมทั้ง 4 ของเฟรมหน้าต่าง และน้ำจะซึมง่ายที่สุดคือขอบหน้าต่างด้านล่าง ซึ่งปัจจุบันนี้หน้าต่างมักจะใช้เป็นเฟรมอลูมิเนียมอบขาว เป็นบานสไลด์ ถ้าหากรูระบายน้ำของรางตัน มีโอกาสมากที่น้ำจะค่อย ๆ ซึมผ่านตามรูยึดเฟรม เข้าไปบนอิฐกำแพงที่ก่อได้ ส่งผลให้เกิดความชื้นตามมา

    วิธีสังเกตุ เรามักจะเห็นคราบน้ำได้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่บางหลังที่ติด
    wall paper อาจจะสังเกตุได้จาก การซ่อม wall paper เป็นบางจุดแทนได้

    วิธีการแก้ไข ต้องรู้ก่อนว่ามาจากจุดไหน ระหว่าง ด้านบนกับด้านล่าง ถ้าเป็นด้านบน อาจเลือกที่จะใช้บัวสำเร็จ ติดไว้แนวขอบบนหน้าต่างนอกบ้าน เพื่อกันน้ำย้อนซึมลงมา ถ้ามาจากด้านล่างให้ซ่อมรูระบายน้ำ และยิงซิลิโคนตามหัวยึดเฟรมหน้าต่าง หากยังไม่หาย หรือยังหาจุดรั่วซึมไม่เจอ อาจเลือกทำหลังคากันสาด หรือ เลือกกันสาดแบบผ้าสวย ๆ มาติดตกแต่งและกันน้ำรั่วซึมแทนได้

 

  1. ดินรอบบ้านทรุด ปัญหาสุดคลาสสิก สำหรับบ้านเดี่ยวบ้านแฝด โดยปกติแล้วหลาย ๆ คนจะกลัวปัญหานี้มากแต่กลับแก้ไขได้ง่ายมาก

    วิธีสังเกตุ ให้ดูรอยดิน หรือรอยสีภายนอกรอบบ้าน ว่ามีระยะทรุดลงมาประมาณกี่เซนติเมตรแล้ว ทั่วไปจะทรุดเต็มที่ก็
    20 เซนติเมตร จุดที่ต้องระวังคือ ทรุดจนเห็นแนวท่อน้ำดีหรือไม่ แล้วแนวท่อโดนอะไรกดทับ เสี่ยงต่อการแตกไหม บริเวณบ่อน้ำเสีย บ่อดักไขมัน ยังปกติดีอยู่ไหม

    วิธีการแก้ไข เดี๋ยวนี้นิยมนำแผ่นพื้นสำเร็จมายึดกับข้างตัวบ้าน ทำเป็นแนวกั้นดิน ก่อนทำการถมดิน จะแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด แล้วก็ทำการถมดินปรับระดับ หากบ่อน้ำเสียต่าง ๆ มีระดับที่ต่ำกว่าปกติก็ทำการปรับขอบบ่อโดยการก่อด้วยอิฐมอญแทนได้ ก็จะทำให้บริเวณรอบบ้าน ได้ระดับที่สวยงาม

 

  1. พื้นโรงจอดรถ พื้นโรงจอดรถของบ้านเดิมปกติมักจะไม่ได้วางบนคานอยู่แล้ว ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดการทรุดจากน้ำหนักรถที่จอด

    วิธีสังเกตุ ให้ดูแนวโรงจอดรถ มักจะมีเสาโครงสร้างตัวบ้านอยู่ บริเวณใกล้เสามักจะไม่ค่อยทรุด เพราะน้ำหนักที่กระจายไปจะไปอาศัยแนวคาน กับเสาเข็มของตัวบ้านช่วยพยุง แต่ตรงกลางมักจะแอ่นเป็นท้องช้าง

    วิธีการแก้ไข หากปูกระเบื้องพื้น หรือทำคอนกรีตพิมพ์ลาย อาจใส่
    wire mesh (เหล็กสานสำเร็จ) เพิ่มความแข็งแรงช่วยกระจายแรง และควรตัดแนวพื้นเป็นร่อง joint ตั้งแต่ระยะเสาบ้าน จนมาถึงประตู เพื่อป้องกันการแตกร้าว

     
  2. ส่วนต่อเติมที่เป็นห้อง บ้านที่มีห้องที่ต่อเติมเพิ่ม นับว่าเป็นกำไรสำหรับผู้ซื้อ เพราะจะได้พื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติม แต่ในทางกลับกัน ถ้าห้องนั้นออกแบบต่อเติมมาผิด spec จะกลายเป็นบาดแผลกับผู้ซื้อทันที เพราะการซ่อมแซมทำได้ยาก และการจะรื้อทิ้งก็ทำให้เสียค่าใช้จ่ายที่สูงอีกด้วย

    วิธีสังเกตุ ห้องที่ต่อเติม ถ้าพื้นทรุด แสดงว่าการออกแบบการรับน้ำหนักของพื้นห้อง ทำผิดวิธี ถ้าเป็นรอยแยกของเสา อาจเป็นที่น้ำหนักของหลังคามากเกินไป หรือ เข็มรับน้ำหนักของปลายหลังคาสั้นเกินไป

    วิธีแก้ไข ถ้าพื้นทรุดแนะนำให้รื้อพื้นทิ้งแล้วใช้เป็นโครงเหล็ก ปูพื้นแทน จะทำให้น้ำหนักเบากว่า ปูนป้องกันการทรุดได้ ถ้าเสาเอียง หรือส่วนต่อเติมฉีกออกจากตัวบ้าน ควรปรับโครงสร้างหลังคาใหม่ ใช้วัสดุเบา อาจเลือกแบบโครงหลังคาแบบยึดกับตัวบ้าน แล้วส่วนผนังบ้านใช้เป็น ผนังเบาหรือจะเป็นโครงอลูมิเนียม + กระจก แทนบางส่วนก็ได้

 

  1. หลังคาส่วนต่อเติม หลังคาต่อเติมให้สังเกตุการรั่วซึม ตามขอบต่าง ๆ หรือแนวโครงหลังคาว่าเป็นจุดที่จะทำให้น้ำย้อนเข้าบ้านได้หรือไม่

    วิธีการสังเกตุ ให้ดูรอยคราบน้ำ ตรงขอบตัวบ้านใต้หลังคา ถ้ามีการเก็บแนว
    flashing ไม่ดี จะเห็นรอยน้ำได้ชัดเจน หรือมีการรั่วตามหัว screw ที่ยิงยึดแผ่นหลังคากับโครงหลังคา เราจะดูได้จากความชื้นที่เกิดขึ้นเป็นจุด ๆ วง ๆ ด้านใต้

    วิธีการแก้ไข ตัว
    flashing อาจจะกรีดติดตั้งตื้นเกินไป หรือเก็บแนว ซิลิโคนได้ไม่ดี สามารถยิงซิลิโคนแก้ไขได้ไม่ยาก

     
  2. หลังคาบ้านเดิม ตรวจดูว่าหลังคามีการรั่วซึมหรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายของการทำหลังคา นับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ๆ ของการซ่อมบ้านเลยทีเดียว ซึ่งเราไม่ต้องปีนขึ้นไปดูบนหลังคา ก็สามารถรู้ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    วิธีการสังเกตุ หลังคาบ้านสามารถดูได้จากรอยชื้นของฝ้า ชั้นบน แต่จุดที่ควรต้องสังเกตุอีกจุดหนึ่งคือจุดรวมน้ำฝนของหลังคาบ้าน สำหรับบางบ้านที่ทำจั่ว ซ้อนกัน อาจมีจุดที่น้ำฝนมารวมตัวกันแล้วปล่อยไหลลงมาหน้าบ้าน ถ้าบ้านบาง
    design แนวน้ำไหลอาจไม่พ้น ขอบระเบียงหรือขอบบัว เราจะสังเกตุรอยน้ำ รอยตะไคร่ ได้

    วิธีการแก้ไข หลังคารั่วสามารถเปิดฝ้าชั้นบน ขึ้นไปแก้ไขได้แล้วทำเป็นช่อง
    service ได้เลยไม่ยาก สำหรับจุดรวมน้ำของหลังคาอาจหาตัวครอบรางน้ำมารองน้ำ แล้วต่อท่อให้ไหลลงท่อระบายน้ำที่ระเบียงชั้นบนได้เช่นกัน

 

  1. ระบบน้ำ ต้องตรวจเช็คให้ดี ทั้งระบบน้ำดี และน้ำเสีย สำหรับบ้านที่ไม่มีคนอยู่ มักจะมีปัญหาเรื่องระบบน้ำดี เพราะหากไม่ถูกใช้น้ำระยะเวลานึง เวลาติดตั้งปั้มอาจเกิดแรงดันในท่อทำให้ท่อน้ำดีแตกได้ ต้องระมัดระวัง

    วิธีสังเกตุ ในส่วนระบบน้ำเสีย หรือ
    floor drain เราอาจจะสังเกตุได้จาก รอยน้ำซึมตามฝ้าชั้น 1 หรือถ้าเป็น floor drain ตามระเบียง ให้ดูฝ้านอกบ้าน ส่วนระบบน้ำดี ให้สังเกตุจากการหมุนของมิเตอร์น้ำ หากปิดน้ำแล้วมิเตอร์หมุน ก็แสดงว่ามีการรั่วแน่นอน

    วิธีการแก้ไข ถ้ารั่วตาม
    floor drain อาจต้องเทกันซึมใหม่ แต่ถ้ารั่วจากระบบท่อน้ำดี ก็ต้องตรวจเช็คว่ารั่วมาจากจุดไหน

    จะเห็นได้ว่า ทั้ง 8 จุด จะมีงานที่ ใช้เงินซ่อมไม่เยอะ แต่หากเกิดขึ้นจะเป็นปัญหากวนใจ กับบางงานไม่กระทบการอยู่อาศัย แต่ใช้เงินซ่อมสูง ดังนั้น หากเราตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เราอาจนำประเด็นเหล่านี้ไปต่อรอง กับผู้ขายเพื่อให้ช่วยซ่อมแซมบางส่วน หรือ อาจนำไปขอลดราคาขายให้กับผู้ซื้ออย่างเรา ก็ถือว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายของการซื้อลงได้เช่นกัน

MASTERY RESOLUTION COPYRIGHT 2019