กนง.หั่นดอกเบี้ยเหลือ 1% ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ หลังไวรัสโคโรนาพ่นพิษ Mastery Resolution - บริษัทเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ครบวงจร

NEWS & ARTICLES

05 Feb 2020 1274 VIEWS

กนง.หั่นดอกเบี้ยเหลือ 1% ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ หลังไวรัสโคโรนาพ่นพิษ


POSTED BY Mastery Resolution

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีจาก 1.25% เป็น 1.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

                โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีและภัยแล้งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก 

                โดยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมากและการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคด้วย

                สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้าและยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

 ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ให้ติดตามผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ และภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งสภาวะการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

                ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาพลังงานต่ำกว่าคาดเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากภัยแล้ง

                ทั้งนี้ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่สินเชื่อภาคธุรกิจมีแนวโน้มชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

 

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนแม้ว่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งแต่ยังอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มผันผวน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง

                รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของระบบการเงินโดยรวมมีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการเงินการคลังต่างๆ ที่ภาครัฐและ ธปท. ได้เร่งดำเนินการเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

                ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน(microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันในจังหวะที่เหมาะสมมองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม รวมทั้งจะติดตามปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

                “การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาความล่าช้าของพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีและภัยแล้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และภาคการเกษตร ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นรวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น ซึ่งตอนนี้สภาพคล่องสำคัญกว่าเรื่องราคา”

อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แตะ 1.0% ต่อปีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใช้เป็นเครื่องมือหลักในการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2543 จนถึงวันที่ 16 มกราคม 2550 กนง.ได้ใช้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 14 วัน (RP 14 วัน) เป็นดอกเบี้ยนโยบาย ต่อมาตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2550 ได้เปลี่ยนมาใช้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วัน (RP 1 วัน) และตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา ได้ใช้อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repurchase Transactions) ระยะ 1 วัน แทน

 

ข้อมูลอ้างอิง และ เครดิตรูปภาพ การเงินธนาคาร

 

MASTERY RESOLUTION COPYRIGHT 2019